ภาพกิจกรรม

ภาพกิจกรรม

วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ใบความรู้วิชาภาษาไทย เรื่อง หลักการพูด

ใบความรู้ที่ 1
เรื่อง หลักการพูด
วิชา พท31001 ภาษาไทย  ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
  การพูด
เป็นวิธีหนึ่งของการสื่อสาร การถ่ายทอดความคิด ความรู้ ความเข้าใจ ความรู้สึก หรือความต้องการ ด้วยเสียง ภาษา และกิริยาท่าทาง เพื่อให้ผู้รับฟังรับรู้ เข้าใจได้ตรงตามจุดประสงค์ของผู้พูด การสื่อสารจึงจะบรรลุผลได้หลักการพูด
 ความหมายของการพูด
             ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 พูด คือ การเปล่งเสียงออกเป็นถ้อยคํา, พูดจา การพูด เป็นการสื่อสารด้วยภาษา จากตัวผู้พูดไปยังผู้ฟัง เพื่อสื่อความหมายให้ผู้อื่นทราบความรู้สึกนึกคิดและความต้องการของตน รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนข่าวสาร ความรู้ ความคิดเห็น ก่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันช่วยให้กิจการต่างๆ ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย
องค์ประกอบของการพูด
             การพูดมีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 3 ประการ ดังนี้
ผู้พูด
               ผู้พูดเป็นผู้ที่จะต้องถ่ายทอดความรู้สึก ความคิดเห็น ข้อเท็จจริง ตลอดจนทัศนคติของตนสู่ผู้ฟังโดยใช้ภาษา เสียง อากับกิริยาและบุคลิกภาพของตนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ผู้พูดจะต้องคำนึงถึงมารยาทและคุณธรรม ในการพูดด้วย
             สิ่งสำคัญที่ผู้พูดจะต้องยึดไว้เป็นแนวปฏิบัติคือ ผู้พูดจะต้องรู้จักสะสมความรู้ ความคิดและประสบการณ์ที่มีคุณค่า มีประโยชน์ แล้วรวบรวม เรียบเรียงความรู้ ความคิดเหล่านี้ ให้มีระเบียบ เพื่อที่จะได้ถ่ายทอดให้ผู้ฟังเข้าใจได้โดยง่าย แจ่มแจ้ง การสะสมความรู้ ความคิดและประสบการณ์ ผู้พูดสามารถทำได้หลายทาง เช่น จากการอ่าน การฟัง การสังเกต การกระทำหรือปฏิบัติด้วยตนเอง การสนทนากับผู้อื่นนอกจากนี้แล้ว ผู้พูดจะต้องมีทักษะ ในการพูด การคิด การฟัง และมีความสนใจที่จะพัฒนาบุคลิกภาพอยู่เสมอ ซึ่งจะช่วยให้ผู้พูด เกิดความมั่นใจในตนเอง
สาระหรือเรื่องราวที่พูด
        คือ เนื้อหาสาระที่ผู้พูดพูดออกไป ซึ่งผู้พูดจะต้องคำนึงอยู่เสมอว่า สาระที่ตนพูดนั้นจะต้องมีประโยชน์ต่อผู้ฟัง อีกทั้งควรเป็นเรื่องที่ใหม่ ทันสมัย เนื้อหาจะต้องมีความชัดเจน ผู้พูดต้องขยายความคือ ความรู้ที่นำเสนอสู่ผู้ฟังให้มีความกระจ่าง ซึ่งอาจขยายความด้วยการยกตัวอย่างแสดงด้วยตัวเลข สถิติ หรือยกหลักฐานต่าง ๆ มาอ้างอิง การเตรียมเนื้อหาในการพูดมีขั้นตอน ดังนี้
2.1) การเลือกหัวข้อเรื่อง ถ้าผู้พูดมีโอกาสเลือกเรื่องที่จะพูดเอง ควรยึดหลักที่ว่าต้อง เหมาะสมกับผู้พูด คือ เป็นเรื่องที่ผู้พูดมีความรอบรู้ในเรื่องนั้น และเหมาะสมกับผู้ฟังเป็นเรื่องที่ผู้ฟังมีความสนใจ นอกจากนี้จะต้องคำนึงถึงโอกาส สถานการณ์ สถานที่ และเวลา ที่กำหนดให้พูดด้วย
2.2) การกำหนดจุดมุ่งหมายและขอบเขตของเรื่องที่จะพูด ผู้พูดจะต้องกำหนด จุดมุ่งหมายในการพูดแต่ละครั้งให้ชัดเจนว่าต้องการให้ความรู้ โน้มน้าวใจหรือเพื่อความบันเทิงเพื่อจะได้เตรียมเรื่องให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมาย นอกจากนี้ผู้พูดจะต้องกำหนดขอบเขตเรื่องที่จะพูดด้วยว่าจะครอบคลุมเนื้อหาลึกซึ้งมากน้อยเพียงใด
         2.3) การค้นคว้าและรวบรวมความรู้ ผู้พูดต้องประมวลความรู้ ความคิดทั้งหมดไว้แล้วแยกแยะให้ได้ว่าอะไรคือความคิดหลัก อะไรคือความคิดรอง สิ่งใดที่จะนำมาใช้เป็นเหตุผลสนับสนุนความคิดนั้นๆ และที่สำคัญ ผู้พูดจะต้องบันทึกไว้ให้ชัดเจนว่าข้อมูลที่ได้มานั้น มีที่มาจากแหล่งใด ใครเป็นผู้พูด หรือผู้เขียน ทั้งนี้ผู้พูดจะได้ อ้างอิง ที่มาของข้อมูลได้ถูกต้องในขณะที่พูด
         2.4) การจัดระเบียบเรื่อง คือ การวางโครงเรื่อง ซึ่งจะช่วยให้การพูดไม่วกวน สับสนเพราะผู้พูดได้จัดลำดับขั้นตอนการพูดไว้อย่างเป็นระเบียบ มีความต่อเนื่อง ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดช่วยให้ผู้ฟังจับประเด็นได้ง่าย การจัดลำดับเนื้อเรื่องจะแบ่งเป็น สามตอน คือ คำนำ เนื้อเรื่องและการสรุป
ผู้ฟัง
        ผู้พูดกับผู้ฟังมีความสัมพันธ์กัน โดยผู้พูดต้องเร้าความสนใจผู้ฟังด้วยการใช้ภาษา เสียง กิริยาท่าทางบุคลิกภาพของตน ในขณะเดียวกันผู้ฟังก็มีส่วนช่วยให้การพูดของผู้พูดบรรลุจุดหมายได้โดยการตั้งใจฟัง และคิดตามอย่างมีเหตุผล ก่อนจะพูดทุกครั้งผู้พูดต้องพยายาม ศึกษารายละเอียดที่เกี่ยวกับผู้ฟังให้มากที่สุด เช่น จำนวนผู้ฟัง เพศ ระดับการศึกษา ความเชื่อและค่านิยม ความสนใจของผู้ฟัง เป็นต้น การวิเคราะห์ผู้ฟังล่วงหน้า นอกจากจะได้นำข้อมูล มาเตรียมการพูดให้เหมาะสมแล้ว ผู้พูดยังสามารถนำข้อมูลนั้นมาใช้ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่อาจจะเกิดขึ้นได้เหมาะสมกับสถานการณ์ด้วย

จุดมุ่งหมายของการพูด
        โดยทั่วไปแล้ว การพูดจะมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ ๆ อยู่ 3 ประการ
1. การพูดเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจ
        การพูดเพื่อจุดมุ่งหมายนี้ เราได้ฟังอยู่เป็นประจำไม่ว่าจะเป็นข่าวสารจากวิทยุ โทรทัศน์ หรือจากวงสนทนาในชีวิตประจำวัน มีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้ฟังเกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ไม่เคยรู้ ไม่เคยมีประสบการณ์หรือมีความรู้ประสบการณ์บ้าง แต่ก็ยังไม่กระจ่างชัด
        การพูดประเภทนี้ ได้แก่ การรายงาน การพูดแนะนำ การบรรยาย การอธิบายการชี้แจง ดังตัวอย่างหัวข้อเรื่องที่พูดเพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ เช่น
  • ทำอย่างไรจึงจะเรียนเก่งและประสบความสำเร็จ
  • ภัยแล้ง
  • ทำไมราคาพืชผลทางการเกษตรจึงตกต่ำ
  • งามอย่างไทย
  • สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ

2.  การพูดเพื่อโน้มน้าวใจ
        การพูดเพื่อโน้มน้าวใจ เป็นการพูดที่มีจุดมุ่งหมายให้ผู้ฟังเชื่อและมีความคิดคล้อยตาม ทำหรือไม่ทำตามที่ผู้พูดต้องการหรือมีเจตนา ฉะนั้น ผู้พูดจะต้องชี้แจง ให้ผู้ฟังเห็นว่า ถ้าไม่เชื่อหรือปฏิบัติตาม ที่ผู้พูดเสนอแล้วจะเกิดโทษ หรือ ผลเสียอย่างไร
        การพูดชนิดนี้จะประสบความสำเร็จได้ดีมากน้อยเพียงไรนั้น ขึ้นอยู่กับตัวผู้พูดเองว่ามีบุคลิกภาพดีไหม มีการใช้ถ้อยคำภาษาที่ง่ายแก่การเข้าใจของกลุ่มผู้ฟังไหม และที่สำคัญ คือผู้พูดจะต้องมีศิลปะและจิตวิทยาในการจูงใจ ผู้ฟังได้เป็นอย่างดี การพูดเพื่อโน้มน้าวใจ จะเห็นตัวอย่างได้จากการพูดเพื่อหาเสียงในการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเพื่อเป็นหัวหน้าชั้น ผู้แทนกลุ่ม หรือองค์การต่างๆ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) หรือการพูดเพื่อรณรงค์ให้ผู้ฟังเลิกบุหรี่ หรือไม่กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น การพูดเพื่อให้ช่วยกันประหยัดการใช้น้ำมัน ไฟฟ้า นอกจากนี้การพูด เพื่อโน้มน้าวใจจะนำไปใช้มากในด้านธุรกิจการขาย การโฆษณาเพื่อให้ผู้คนหันมานิยมใช้หรือซื้อสินค้าตุน
ตัวอย่างหัวข้อเรื่องที่พูดโน้มน้าวใจ
  • บริจาคโลหิตช่วยชีวิตมนุษย์
  • มาเลี้ยงลูกด้วยนมมารดากันเถอะ
  • ฟังดนตรีเถอะชื่นใจ
  • ช่วยทำเมืองไทยให้เป็นสีเขียวดีกว่า
  • ออกกำลังกายวันละนิดชีวิตแจ่มใส
  • เหรียญบาทมีความหมายเพื่อเด็กยากไร้ในชนบท
3. การพูดเพื่อความบันเทิง
        การพูดเพื่อจุดมุ่งหมายนี้เป็นการพูดที่มุ่งให้ผู้ฟัง เกิดความเพลิดเพลิน รื่นเริง สนุกสนานผ่อนคลายความตึงเครียด ในขณะเดียวกันก็แทรกเนื้อหาสาระ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังด้วยผู้พูด จะต้องเป็นบุคคลที่มองโลกในแง่ดี มีอารมณ์ขัน
หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสไม่เป็นคนเคร่งเครียดเอาจริงเอาจังเกินไป เพราะสิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อการสร้างบรรยากาศความเป็นกันเองให้เกิดขึ้นได้ ดังจะเห็นได้จากรายการต่างๆ ทางสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นวิทยุโทรทัศน์
 ตัวอย่างหัวข้อเรื่องที่พูดเพื่อความบันเทิง
  • เราจะได้อะไรจากการฟังเพลงลูกทุ่ง
  • ทำอะไรตามใจคือไทยแท้
  • พูดใครคิดว่าไม่สำคัญ
  • ที่ว่ารัก รักนั้นเป็นฉันใด
หลักการพูดที่ดีต้องคำนึงถึง
1.             การใช้ภาษา ต้องเลือกใช้ถ้อยคำที่เข้าใจง่ายเหมาะสมกับวัยของผู้ฟัง
2.             ผู้พูดและผู้ฟังมีจุดมุ่งหมายตรงกัน ผู้พูดมีจุดมุ่งหมายที่ต้องการสื่อความหมายไปยังผู้ฟังเพื่อให้เข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ผู้ฟังก็มีความตั้งใจฟังสิ่งที่ผู้พูดสื่อความหมายให้
3.             ออกเสียงพูดให้ชัดเจน ดังพอประมาณ อย่าตะโกนหรือพูดค่อยเกินไป
4.             สีหน้า ท่าทางยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นกันเอง ไม่เคร่งเครียด
5.             ท่าทางในการยืน นั่ง ควรสง่าผ่าเผย การใช้ท่าทางประกอบการพูดก็มีความสำคัญ เช่น การใช้มือ นิ้ว จะช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจเรื่องราวได้ง่ายยิ่งขึ้น
6.             ต้องรักษามารยาทการพูดให้เคร่งครัดในเรื่องเวลาในการพูด พูดตรงเวลาและจบทันเวลา
7.             พูดเรื่องใกล้ตัวให้ทุกคนรู้เรื่อง เป็นเรื่องสนุกสนานแต่มีสาระ และพูดด้วยท่าทางและกิริยานุ่มนวล เวลาพูดต้องสบตาผู้ฟังด้วย
8.             ไม่ควรพูดเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา การเมือง โดยไม่จำเป็น และไม่ควรพูดแต่เรื่องของตัวเอง
9.             ไม่พูดคำหยาบ นินทาผู้อื่น ไม่พูดแซงขณะผู้อื่นพูดอยู่ และไม่ชี้หน้าคู่สนทนา
มารยาทในการพูด
        การพูดที่ดีไม่ว่าจะเป็นการพูดในโอกาสใด หรือประเภทใด ผู้พูดต้องคำนึงถึงมารยาทในการพูด ซึ่งจะมีส่วนส่งเสริมให้ผู้พูดได้รับการชื่นชมจากผู้ฟัง ซึ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในการพูด มารยาทที่สำคัญของการพูดสรุป ได้ดังนี้
1.             พูดด้วยวาจาสุภาพ แสดงหน้าตาที่ยิ้มแย้มแจ่มใส
2.             ไม่พูดอวดตนข่มผู้อื่น และยอมรับฟังความคิดของผู้อื่นเป็นสำคัญ
3.             ไม่กล่าววาจาเสียดแทง ก้าวร้าวหรือพูดขัดคอบุคคลอื่น ควรใช้วิธีที่สุภาพเมื่อต้องการแสดงความคิดเห็น
4.             รักษาอารมณ์ในขณะพูดให้เป็นปกติ
5.             ไม่นำเรื่องส่วนตัวของผู้อื่นมาพูด
6.             หากนำคำกล่าวของบุคคลอื่นมากล่าว ต้องระบุนามหรือแหล่งที่มาเป็นการให้เกียรติบุคคลที่กล่าวถึง
7.             หากพูดในขณะที่ผู้อื่นยังพูดไม่จบ ควรกล่าวคำขอโทษ
8.             ไม่พูดคุยกันข้ามศีรษะผู้อื่น




















ใบความรู้ ที่ 2
เรื่อง การพูดเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ
ประเภทของการพูด
มี 2 ประเภท คือ
1. การพูดอย่างไม่เป็นทางการ (Informal)
2. การพูดอย่างเป็นทางการ (Formal)
1. การพูดอย่างไม่เป็นทางการ (Informal) คือ การพูดในชีวิตประจำวัน เป็นการสนทนากันตามปกติในหมู่ญาติพี่น้อง มิตรสหาย คนสนิทและไม่เป็นพิธีการ ทั้งผู้พูดและผู้ฟังไม่ต้องเตรียมตัวมาก่อน แบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่
1.1 การพูดทั่วไป เช่น การพูดกับญาติพี่น้องเพื่อนสนิทมิตรสหาย ที่มีโอกาสพบปะพูดจากันเสมอในชีวิตประจำวัน
1.2 การสนทนา คือ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในสิ่งที่ผู้พูดกับผู้ฟังมีความสนใจร่วมกัน การสนทนาอาจทำได้ตั้งแต่ไม่เป็นทางการจนถึงเป็นทางการ
2. การพูดอย่างเป็นทางการ (Formal) ได้แก่ การพูดหรือสนทนากันอย่างมีพิธีรีตอง เป็นการพูดต่อหน้าชุมชนในโอกาสต่างๆ และเพื่อจุดมุ่งหมายต่างกัน เป็นการพูดที่มีแบบแผนเป็นพิธีการ ต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ ศิลปะในการพูดและบุคลิกภาพในการพูด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องมีการเตรียมตัวก่อนและฝึกฝนเป็นอย่างดี ภาษาต้องสุภาพ เหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคล รูปแบบก่อนพูดอย่างเป็นทางการแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ คือ
2.1 การพูดโดยไม่มีการเตรียมตัวล่วงหน้า เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การพูดโดยกะทันหันการพูดแบบนี้ต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบ ประสบการณ์ ความรู้และความชำนาญที่มีอยู่เดิม
2.2 การพูดโดยมีการเตรียมตัวล่วงหน้า เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าการพูดแบบมีโน๊ตย่อผู้พูดต้องรู้ล่วงหน้าว่าจะพูดเรื่องอะไร ที่ไหน ใครฟัง จึงสามารถ เตรียมเนื้อเรื่อง เตรียมอุปกรณ์ประกอบการพูดและทำโน๊ตย่อหรือ โครงเรื่องที่จะพูดมาดูได้ในขณะที่พูด
2.3 การพูดจากความจำ เรียกว่า การพูดแบบท่องจำการพูดแบบนี้เหมาะสมกับผู้พูดที่มีความจำดี และเป็นเรื่องที่ไม่ยาวนัก ผู้พูดต้องมีเวลาในการนำเรื่องไปอ่าน ท่องจำให้ได้ทั้งหมดโดยจดจำประเด็นสำคัญให้ได้
2.4 การพูดโดยการอ่านจากต้นฉบับ เป็นการพูดตามต้นฉบับที่ตระเตรียมไว้ให้ครบถ้วน วิธีนี้จึงดูเหมือนเป็นการอ่านจากต้นฉบับ แต่ผู้พูดจะต้องใช้สายตามองดูผู้ฟังมากกว่าต้นฉบับ จึงมักใช้ในการพูดที่เป็นพิธีการ เช่น กล่าวสุนทรพจน์ คำปราศรัย แถลงการณ์ เป็นต้น
หากแบ่งอย่างกว้างๆ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. การพูดที่จำแนกตามจำนวนผู้ฟัง ได้แก่
1.1 การพูดระหว่างบุคคล ซึ่งอาจมีเพียง 2 คน หรือในกลุ่มเล็กๆ ที่มองเห็นหน้ากัน เช่น การสนทนา การเล่าเรื่อง การแนะนำตัว การตอบข้อซักถาม การสัมภาษณ์ เป็นต้น
1.2 การพูดในที่ประชุมชน เป็นการพูดที่มีผู้ฟังเป็นจำนวนมากจึงต้องมีการเตรียมใจ เตรียมความพร้อม ทั้งในด้านบุคลิกภาพและเนื้อเรื่องที่จะนำเสนอ เช่น การสัมมนา การโต้วาที การให้โอวาท การกล่าวแสดงสุนทรพจน์ เป็นต้น
2. การพูดที่จำแนกตามประเภทของการพูด ได้แก่
2.1 การพูดโดยฉับพลัน เป็นการพูดโดยไม่รู้ตัวมาก่อนแต่มีผู้เชิญให้พูดอย่างกะทันหัน จึงมีผู้เรียกการพูดแบบนี้ว่า การพูดแบบกลอนสดผู้พูดจึงต้องอาศัยพรสวรรค์ ไหวพริบและการช่างสังเกตจึงจะทำให้การพูดลุล่วงไปด้วยดี เช่น การพูดอวยพรในงานมงคลสมรส ได้รับให้กล่าวขอบคุณวิทยากรอย่างกะทันหัน เป็นต้น
2.2 การพูดโดยท่องจำ เป็นการพูดที่ผู้พูดรู้ตัวมาก่อนและมีการ เตรียมตัวทั้งทางด้านเนื้อหา บุคลิกภาพ เช่น การกล่าวต้อนรับผู้มาเยือน การกล่าวอำลา การกล่าวให้โอวาท เป็นต้น สิ่งสำคัญของการพูดแบบนี้คือ ต้องพูดให้เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่พูดแบบท่องจำ
2.3 การพูดโดยอ่านจากต้นฉบับ การพูดแบบนี้ผู้พูดจะพูดจากต้นฉบับที่เตรียมไว้ล่วงหน้า ซึ่งอาจจะเตรียมเองหรือให้ผู้อื่นเตรียมให้ ผู้พูดจึงควรมีการซ้อมอ่านมาก่อนเพื่อป้องกันการผิดพลาด
2.4 การพูดโดยมีบันทึก เป็นการพูดในที่ประชุมชนที่นิยมใช้กันมาก และได้ผลดีกว่าแบบอื่นๆ แต่ผู้พูดต้องศึกษาค้นคว้าและเตรียมตัวล่วงหน้ามาเป็นอย่างดี ทำความเข้าใจเนื้อหาที่จะพูดให้ถ่องแท้ มีการจดบันทึกเฉพาะข้อความที่สำคัญๆ เช่น หัวข้อสำคัญ ตัวอย่าง สถิติ สำนวน คำคม รวมทั้งชื่อสกุลของบุคคลสำคัญที่นำมาอ้างถึงด้วย เป็นต้น

นภดล จันทร์เพ็ญ (2539 : 59) ได้แบ่งการพูดออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. การพูดอย่างไม่เป็นทางการ (Informal) คือการพูดในชีวิตประจำวัน เป็นการสนทนากันตามปกติในหมู่ญาติพี่น้องเพื่อนฝูง ไม่เป็นพิธีการ มีจำนวนผู้ฟังไม่ มากนัก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1.1 การพูดทั่วไป คือ การพูดกับญาติพี่น้อง เพื่อนสนิทมิตรสหายที่มีโอกาสพบปะพูดคุยกันเสมอๆ ในชีวิตประจำวันการพูดแบบนี้ไม่ต้องมีการเตรียมตัว
1.2 การสนทนา เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในสิ่งที่ผู้พูดกับผู้ฟังมีความสนใจร่วมกัน โดยมีผู้ร่วมสนทนาตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป การสนทนาอาจทำได้ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความพึงพอใจให้กับคู่สนทนาจึงควรมีลักษณะดังนี้
1.2.1 มีความรู้รอบตัวและมีปฏิภาณไหวพริบ
1. 2.2 เป็นผู้ฟังที่ดี
1.2.3 มีอารมณ์ขัน ร่าเริง แจ่มใส
1.2.4 ใจกว้าง ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
1.2.5 ให้ความสนใจและเข้าใจคู่สนทนา
1.2.6 มีความจริงใจและให้เกียรติคู่สนทนา
1.2.7 สามารถนำผู้อื่นเข้าร่วมสนทนาได้
1.2.8 พูดเรื่องที่คู่สนทนารู้และสนใจ
1.2.9 มีศิลปะในการแสดงความคิดเห็นขัดแย้งได้อย่างนุ่มนวล
1.2.10 รู้จักยกย่องคู่สนทนาอย่างพอเหมาะพอดี
1.2.11 มีความสุภาพอ่อนโยนทั้งคำพูดและกิริยาอาการ
1.2.12 มีศิลปะในการกล่าวคำปฏิเสธ
2. การพูดอย่างเป็นทางการ (Formal) คือ การพูดหรือสนทนากันอย่างมีพิธีรีตองเป็นแบบแผน และส่วนใหญ่เป็นการพูดต่อหน้าชุมชนในโอกาสต่างๆ และเพื่อ จุดมุ่งหมายต่างกัน ภาษาที่ใช้ต้องสุภาพ เหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคล เช่น การปาฐกถา การอภิปราย การโต้วาที การกล่าวสุนทรพจน์ เป็นต้น
ในการพูดอย่างเป็นทางการหรือการพูดในที่ชุมชน ผะอบ โปษะกฤษณะ (2535 : 120) ได้แบ่งขั้นตอนการพูดออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ
1. ก่อนพูด คือ ขั้นเตรียมตัวเพื่อการพูดและฝึกพูด
2. ขณะพูด คือ การปฏิบัติการพูดและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

3. หลังพูด คือ การประเมินผลการพูด อาจจะประเมินด้วนตนเองและผู้อื่นก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น