ภาพกิจกรรม

ภาพกิจกรรม

วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ใบความรู้เรื่อง หลักการฟังและการดู

ใบความรู้ที่ 1

เรื่อง หลักการฟังและการดู 

วิชา พท31001 ภาษาไทย  ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
1. ความหมายของการฟัง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.. 2525 ได้อธิบายความหมายของการฟังไว้ว่า การฟัง หมายถึงการตั้งใจสดับคอยรับฟังด้วยหู ได้ยิน ขยายความได้ว่าการฟัง   เริ่มจากการได้ยินเสียก่อน  ขั้นที่ติดตามเรื่องราวของสิ่งที่ได้ยินไปด้วยพอถึงขั้นที่  3  ต้องสามารถเข้าใจสิ่งที่ได้ยิน   หรือตีความหมายของสิ่งที่ได้ยินได้  และขั้นสุดท้าย   ต้องเกิดความคิดคล้อยตามหรือโต้แย้งสิ่งที่ได้ยินนั้น   เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
2. ประโยชน์ของการฟัง
                2.1 ช่วยให้มีความรู้และสติปัญญาเฉลียวฉลาด เป็นผู้ทันโลก และทันเหตุการณ์  เพราะฟังมากย่อมรู้มาก   ซึ่งเป็นคุณสมบัติของความเป็นนักปราชญ์หรือผู้เป็นพหูสูต
                2.2 ช่วยให้นำสิ่งที่ได้สดับฟังนั้น ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้  เช่น  ตัดสินปัญหาได้   หรือมีความคิดสร้างสรรค์
                2.3 ช่วยให้เกิดทักษะในการฟัง คือ  สามารถจับใจความสำคัญของเรื่องที่ฟัง  ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการแสวงหาความรู้ได้
                2.4 ช่วยให้มีวิจารณญาณในการฟัง  คือ สามารถพิจารณาไตร่ตรองได้ว่า สิ่งใดบ้างเป็นข้อเท็จจริง  สิ่งใดบ้างผิด และสิ่งใดบ้างถูกต้อง 
3. วัตถุประสงค์ของการฟัง
                การฟังที่ดีผู้ฟังจะต้องตั้งจุดประสงค์ของการฟังไว้ในใจเสียก่อน ซึ่งผู้ฟังมักมีจุดประสงค์ใหญ่ 3 ประการ คือ
                3.1 ฟังเพื่อให้เกิดความรู้และความรอบรู้ แยกออกได้ดังนี้
                                3.1.1      ฟังเพื่อให้เกิดความรู้   การฟังชนิดนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักเรียน
                                3.1.2      ฟังเพื่อให้เกิดความรู้ เป็นการฟังที่ช่วยสร้างเสริมเพิ่มพูดความรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เช่น  ฟังข่าว   เหตุบ้านการเมือง ฯลฯ การฟังต้องสามารถจับประเด็นสำคัญของเรื่อง โดยอาศัยหลักการพินิจสารและรู้จักประเมินคุณค่าของสาร
                3.2 ฟังเพื่อหาเหตุผลมาโต้แย้งหรือคล้อยตามเป็นการฟังที่มีจุดมุ่งหมายให้ผู้ฟังมีวิจารณญาณในการฟังเป็นสำคัญ   คือ   เมื่อฟังอะไรแล้วต้องเป็นผู้รู้จักคิด   รู้จักไตร่ตรองว่าสิ่งที่ตนได้ฟังมานั้นมีเหตุผลสมควรเชื่อถือหรือไม่  อันจะเป็นการฝึกให้เป็นคนสุขุมรอบคอบ  ไม่เชื่อสิ่งใดอย่างงมงาย
                3.3 ฟังเพื่อความเพลิดเพลิน  และซาบซึ้ง   เป็นการฟังด้วยความนิยมชมชอบ  ผู้ฟังจะได้รับทั้งความสนุกสนานและความเพลิดเพลิน   การฟังอย่างนี้ถือเป็นการตอบสนองความต้องการทางอารมณ์ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด
4. ลักษณะของการเป็นผู้ฟังที่ดี
                การฟังเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิตของบุคคลทั่วไป   เราจึงควรทราบลักษณะของผู้ฟังที่ดี  ซึ่งมีดังนี้
                4.1 มีสมาธิในการฟัง   การมีสมาธิเป็นสิ่งจำเป็นมากในการฟัง    ผู้ฟังต้องตัดความวิตกหรือความกังวลใจต่าง ๆ  ออกจากจิตใจให้หมด ฉะนั้นทุกครั้งที่ฟังเรื่องใดก็ตาม ผู้ฟังต้องหมั่นฝึกความมีสมาธิให้แก่ตนเองพยายามพุ่งความสนใจไปในเรื่องที่ตนกำลังฟังนั้น
                4.2 ตั้งจุดมุ่งหมายในการฟัง ในการฟังแต่ละครั้งผู้ฟังควรตั้งจุดมุ่งหมายไว้ว่าจะฟังเพื่ออะไร เช่น ฟังเพื่อจับใจความสำคัญ ฟังเพื่อความเพลิดเพลิน เป็นต้น การฟังอย่างไร้จุดหมายย่อมเสียเวลาในการฟัง
                4.3 วิเคราะห์เจตนาของผู้พูด คือ  ต้องรู้จักวิเคราะห์เจตนาของผู้พูดว่า  ผู้พูดมีความประสงค์อย่างไร  มีสิ่งใดแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ในเรื่องที่พูดหรือไม่
                4.4 สนใจและจับประเด็นสำคัญเรื่องที่ฟังให้ได้  คือขณะฟังต้องรู้จักใช้สติปัญญาวิเคราะห์ดูว่าผู้พูดกำลังพูดเรื่องอะไร ให้สาระประโยชน์อะไรบ้าง  เรื่องที่ฟังนั้นมีประเด็นสำคัญอย่างไร  แล้วพยายามสรุปความคิดรวบยอดให้ได้
4.5 ต้องวางใจเป็นกลางไม่มีอคติใด ๆ ต่อผู้พูด การมีอคติ และการจับผิดผู้พูดย่อมมีผลเสียมากกว่าได้ ควรหลีกเลี่ยงการจับผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น  การแต่งกาย   การพูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ   ในบางคำ ฯลฯ   เพราะจะทำให้ผู้ฟังเกิดรู้สึกว่าเรื่องที่กำลังฟังนั้นเป็นเรื่องที่น่าตำหนิ   ควรสร้างเจตคติที่ดีต่อผู้พูดเสมอ  การทำใจได้เช่นนี้  จะทำให้บรรยากาศการฟังเป็นไปอย่างราบรื่นและเข้าใจดี
                4.6 ฟังด้วยความอดทนและตั้งใจฟัง   ต้องอดทนและตั้งใจฟังตั้งแต่ต้นจนจบ   การฟังอย่างครึ่ง ๆ   กลาง ๆ   หรือฟังเพียงบางตอนย่อมทำให้ไม่สามารถเข้าใจเนื้อเรื่องได้สมบูรณ์
                4.7 ฟังอย่างสำรวมให้เกียรติผู้พูด และมีมารยาทอันดีงาม นับเป็นคุณสมบัติของผู้ฟังที่ดี การรู้ว่าสิ่งใดควรไม่ควร  เช่น การลุกเดินเข้าออก การทำเสียงเอะอะนับเป็นกิริยาที่ไม่เหมาะสม ถือว่าไม่ให้เกียรติ และเป็นการเสียมารยาทอย่างยิ่ง  แสดงความคิดเห็นก็ควรทำภายหลัง
                4.8 ใช้ศิลปะในการฟัง   ผู้ฟังที่ดีไม่ควรฟังอย่างเดียวควรใช้ไหวพริบในบางโอกาส     เพื่อช่วยให้ผู้พูดสามารถถ่ายทอดความรู้  ความคิดของตนไปสู่จุดหมายปลายทางตามที่ผู้ฟังต้องการ    โดยการใช้คำถามที่ได้จากการเชื่อถือผู้ฟังต้องการ
                4.9 ขณะฟังควรบันทึกสิ่งสำคัญ   หากสงสัย  ควรซักถาม   ให้เหมาะสม
4.10 หลักการฟัง  ผู้ฟังบันทึกว่า   เรื่องราวต่าง ๆ  ที่ฟังไปนั้นตรงกับข้อจริง  และมีเหตุผลน่าเชื่อถือเพียงใด   มีสิ่งใดจะนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ได้หรือไม่ และรู้จักนำความรู้หรือข้อคิดต่าง ๆ ที่ได้จากการฟังไปใช้ประโยชน์   ตามโอกาสอันสมควร
5.  มารยาทในการเป็นผู้ฟังที่ดี
                ผู้ฟังที่ดีควรต้องระมัดระวังมารยาท   ตั้งแต่เริ่มเข้าฟัง  ขณะฟังไปจนกระทั่งเลิกฟัง  คือ
                5.1 ควรแต่งกายสุภาพเรียบร้อย  เช่น  ไม่สวมเสื้อปล่อยชายรุ่มร่าม  หรือสวมรองเท้าแตะฟองน้ำเข้าฟัง  
เป็นต้น
                5.2 ผู้ฟังที่ไปถึงก่อน ควรนั่งเก้าอี้ที่เขาจัดไว้แถวหน้า ๆ ผู้ที่มาทีหลังจากนั้นก็ควรนั่งถัดกันลงมาข้างหลังทีละแถวตามลำดับ เพื่อผู้มาช้าจะได้ไม่ต้องหลีกคนหลาย ๆ คนเข้าไปหาที่นั่ง ทำให้วุ่นวายขาดสมาธิในการฟังได้ ถ้าผู้พูดเริ่มพูดไปบ้างแล้ว และไม่มีเก้าอี้ให้นั่ง ก็ควรจะยืนฟังอย่างสงบ และมีระเบียบไม่บังคับผู้ที่นั่งอยู่ก่อน
                5.3 ควรไปถึงสถานที่ฟังก่อนผู้พูดเริ่มพูด ถ้าเข้าหลังผู้พูดเริ่มพูดแล้วต้องแสดงความเคารพผู้พูดก่อน และเข้าไปนั่งฟังอย่างสงบ   หากจำเป็นต้องออกจากห้องประชุมที่นั่งฟังอยู่ก่อนที่จะพูดจบ  ก็ต้องทำความเคารพผู้พูดก่อนด้วย
                5.4 ควรฟังด้วยความสนใจ    ไม่ควรแสดงสีหน้าท่าทางให้ผู้พูดเห็นว่า   ผู้ฟังเกิดความเบื่อหน่ายเพราะจะทำให้ผู้พูดเสียกำลังใจ  ถ้าเกิดไม่อยากฟังจริง      ก็ควรจะเลิกฟังและออกจากห้อง  ประชุมไปเลย
                5.5 ควรให้เกียรติผู้พูดด้วยลักษณะต่าง ๆ   ที่ทำได้  เช่นพูดดี   ถูกใจผู้ฟังก็ควรปรบมือ   หรือพูดชมเชยเมื่อมีโอกาส  ขณะฟังอยู่ควรมองหน้าผู้พูดตลอดเวลาและไม่ควรคุยกัน   ด้วยเรื่องส่วนตัวจนเป็นที่รำคาญแก่ผู้อื่นไม่ควรลุกเดินขวักไขว่ไปมาไม่ควรนั่งหลับสัปหงก  ฯลฯ
                5.6  ถ้าเกิดข้อสงสัยต้องการซักถาม  ควรรักษามารยาทดังนี้
                                5.6.1      ควรยกมือขึ้น  เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงค่อยถาม
                                5.6.2      ควรถามอย่างสุภาพเรียบร้อยทั้ง  ถ้อยคำและอากัปกิริยา
                                5.6.3      คำถามควรกะทัดรัด  ตรงประเด็น  เกี่ยวกับเรื่องที่ฟัง
                                5.6.4      ถ้าจะคัดค้าน   ควรคัดค้านอย่างนิ่มนวล  และกล่าวขอโทษก่อน
5.6.5      เมื่อฟังพูดจบแล้ว ควรลุกขึ้น และออกไปมีระเบียบ พยายามทำให้เกิดเสียงน้อยที่สุด
6. เรื่อง การฟังและดูเพื่อจับประเด็นและสรุปความ
6.1  ความหมายของการจับประเด็น  หมายถึง การจับข้อความสำคัญหรือใจความสำคัญของเรื่อง
6.2  ความหมายของการสรุปความ  คือ  การหยิบยกเอาความคิดหลักหรือประเด็นที่สำคัญของเรื่องมากล่าวย้ำให้เด่นชัด  โดยใช้ประโยคสั้นๆแล้วเรียบเรียงให้เป็นระเบียบ
6.3  มารยาทในการฟังและดู
                6.3.1 มองสบตาผู้พูด  ไม่มองออกนอกห้องหรือมองไปที่อื่น  อันเป็นการแสดงว่าไม่สนใจเรื่องที่พูดและไม่เอาหนังสือไปอ่านขณะที่ฟังหรือดู
                6.3.2 รักษาความสงบ ไม่ส่งเสียงรบกวนผู้อื่น  ไม่เอาของขบเคี้ยวเข้าไปทำลายสมาธิของผู้อื่น  การชมภาพยนตร์ควรปิดโทรศัพท์มือถือจะได้ไม่รบกวนความสุขของผู้อื่น  ไม่ควรพาเด็กเล็กๆไปในโรงภาพยนตร์หรือในที่ที่ต้องการความสงบ
6.3.3  แสดงกิริยาอาการที่เหมาะสม  วัยรุ่นไม่ควรนั่งเกี้ยวพาราสีกันในที่สาธารณชนที่ต้องการความสงบในการฟังและการดู  เพราะนอกจากจะรบกวนสายตาคนอื่นแล้วยังเป็นการแสดงกิริยาที่ขัดต่อขนบธรรมเนียมของไทยอีกด้วย
                6.3.4 ในการดูภาพไม่ควรขีดเขียนหรือฉีกภาพซึ่งแสดงถึงความไม่มีวัฒนธรรมที่ดีงาม
6.4 หลักการฟังและดูเพื่อสรุปความและจับประเด็น
การฟังและดูเพื่อจับประเด็นและสรุปความ เป็นทักษะเบื้องต้นที่ทุกคนจะต้องฝึกฝน  เราจะต้องติดตามฟัง ดูเรื่องราวโดยตลอด  ดังนั้นจึงต้องมีสมาธิในการฟังและสามารถแยกแยะได้ว่าข้อความใด
เป็นใจความสำคัญ และข้อความใดเป็นพลความ  ถ้าเราเข้าใจเรื่องราวได้โดยตลอดแล้วเราย่อมจดจำเรื่องราวที่ฟังและสามารถถ่ายทอดให้คนอื่นฟังได้ด้วย
                ในการฟังแต่ละครั้ง  เราต้องจับประเด็นของเรื่องที่ฟังได้ คือ รู้ว่าผู้พูดต้องการสื่อสารอะไร เป็นประเด็นสำคัญ  และรู้จักว่าอะไรคือประเด็นรองซึ่งขยายประเด็นสำคัญ  การฟังเช่นนี้เป็นการฟังเพื่อจับใจความสำคัญและใจความรองและรายละเอียดของเรื่อง  มีวิธีการฟังดังนี้
                6.4.1 ฟังเรื่องราวให้เข้าใจ  พยายามจับใจความสำคัญของเรื่องเป็นตอนๆ ว่าเรื่องอะไร  ใครทำอะไร  ที่ไหน  เมื่อไร  อย่างไร
                6.4.2 ฟังเรื่องราวที่เป็นใจความสำคัญแล้วหารายละเอียดของเรื่องที่เป็นลักษณะปลีกย่อยของใจความสำคัญ  หรือที่เป็นส่วนขยายใจความสำคัญ
                6.4.3  สรุปความโดยรวบรวมเนื้อหาสาระสำคัญอย่างครบถ้วน
                            วิธีการสรุปความจากการฟังนั้น  เราจะต้องค้นหาให้พบว่าสารใดเป็นความคิดสำคัญในเรื่องนั้นๆ  แล้วสรุปไว้เฉพาะใจความสำคัญ  โดยเขียนชื่อเรื่อง  ผู้พูด  โอกาสที่ฟัง  วัน  เวลา  และสถานที่ที่ได้ฟังหรือดูไว้เป็นหลักฐานเครื่องเตือนความทรงจำต่อไป
                            การฟังและดูเพื่อจับประเด็นและสรุปความ  เป็นการฟังในชีวิตประจำวันเพื่อให้ได้สาระสำคัญของเรื่องที่ฟัง  เช่น  ฟังการสนทนา  ฟังเรื่องราวข้อมูลข่าวสารต่างๆ  ฟังโทรศัพท์  ฟังประกาศ  ฟังการบรรยาย  ฟังการอภิปราย  ฟังการเล่าเรื่อง  เป็นต้น
7. วิธีสรุปความตามลำดับขั้น
7.1 ขั้น อ่าน  ฟัง  และดู
                        - อ่าน  ฟังและดูให้เข้าใจอย่างน้อย  2 เที่ยว  เพื่อให้ได้แนวคิดที่สำคัญ
7.2 ขั้นคิด
                        - คิดเป็นคำถามว่าอะไรเป็นจุดสำคัญของเรื่อง
                        - คิดต่อไปว่า  จุดสำคัญของเรื่องมีความสัมพันธ์กับสิ่งใดบ้าง  จดสิ่งนั้นๆไว้เป็นข้อความสั้นๆ
                        - คิดวิธีที่จะเขียนสรุปความให้กะทัดรัดและชัดเจน
7.3 ขั้นเขียน
                        - เขียนร่างข้อความสั้นๆที่จดไว้

                        - ขัดเกลาและตบแต่งร่างข้อความที่สรุปให้เป็นภาษาที่ดีสื่อความหมายได้แจ่มแจ้งชัดเจน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น